ประวัติ อุบาสิกา พิมพา ทองเกลา
ภูมิกำเนิด อุบาสิกา พิมพา ทองเกลา มีชื่อเดิมว่า เฟื่องฟ้า ทองเกลา พื้นเพดั้งเดิม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อ วันที่ 16 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2478 ที่ หมู่บ้านระหานบ่อภู ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนที่เจ็ด ในสิบคน ของ นายวาด ผู้เป็นบิดา และนางดี ทองเกลา ผู้เป็นมารดา ซึ่งมีอาชีพทำน้ำตาลโตนด เมื่ออายุได้ห้าขวบ มีนายทหารบก ยศร้อยเอก อยู่กรมวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ได้มาขออุบาสิกาพิมพา เป็นบุตรบุตรธรรม เพราะว่าท่านไม่มีลูก
ประวัติการศึกษา ในวัยเด็ก ได้เข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล ที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และ ได้ย้ายติดตามผู้ปกครองไปเรื่อย ๆ เมื่อมีคำสั่งโยกย้ายจนสงครามโลกครั้งที่สองยุติ เมื่อปีที่พุทธศักราช 2489 นายทหารบกร้อยเอก ผู้นี้ ก็ได้เลื่อนยศเป็น พันโท ชื่อว่า พันโท ศุภชัย สุรวรรธนะ (สละ สุริพันธุ์) มาประจำอยู่ที่กรมจเรทหารสื่อสาร สะพานแดง บางซื่อ พระนคร รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกเทคนิคอยู่ในกรม ต่อมาอุบาสิกาพิมพา ก็ได้เข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสตรีวรนารถ ซึ่งตั้งอยู่ ู่หน้าบ้านพระยาวิฑูรย์ วังเทเวศร์ ในปัจจุบันโรงเรียนสตรีวรนารถ ได้ย้ายไปอยู่บางเขน บิดาบุญธรรมนั้น ต่อมาภายหลังก็ได้เลื่อนยศ เป็น พลตรี และรับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมการทหารสื่อสาร (พ.ศ.2504-2509) จนปลดเกษียณ และได้เสียชีวิตไปประมาณ สิบกว่าปีแล้ว พร้อมด้วยภรรยาก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน
ศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ย้อนไปเมื่อสมัยอายุได้เจ็ดขวบ อุบาสิกาพิมพา เริ่มมีรายได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละสามสตางค์ ท่านได้เล่าว่า ท่านได้เริ่ม เก็บหอม รอบริบเงินไว้วันละครึ่งสตางค์ บางวันก็หนึ่งสตางค์บ้าง ใส่กระปุกออมสินสะสมไว้เพื่อจะได้บวชชี และเก็บมาเรื่อย ๆ
เมื่ออายุได้ สิบแปดปี ก็มีเงินได้สองพันบาท ก็เริ่มถือบวชที่วัดประชาระบือธรรม ตรงข้ามซอยระนอง 1 ซึ่งอยู่ติดกับกรมสื่อสาร และ เมื่อปี 2500 ก็ได้กลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี และได้บวชเป็นอุบาสิกา (แม่ชี) อยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ และได้ย้ายมาอยู่ที่ สำนักวิปัสสนา วัดเทพปราสาทศิลาแลง (วัดกำแพงแลง) ซึ่งสำนักวิปัสนากรรมฐานนี้ วัดมหาธาตุที่กรุงเทพมหานคร ได้ไปเปิดไว้ ในระหว่างที่ถือบวชอยู่ที่วัดกำแพงแลง ได้มีสตรีชาวอังกฤษสองคน ซึ่งถือบวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ได้ ติดตามมาอยู่ด้วย และปฏิบัติวิปัสสนาร่วมกัน
เริ่มศึกษาพระอภิธรรม ต่อมาอาจารย์อาสภะเถระ ซึ่งเป็นชาวพม่า และเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาของวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ได้ไปสอบอารมณ ์กรรมฐานของ อุบาสิกา (แม่ชี) และคณะโยคีทั้งหลายที่เข้าปฏิบัติอยู่ที่วัดเทพปราสาทศิลาแลง จังหวัดเพชรบุรี นำจำนวนโยคีผู้ปฏิบัต ิทั้งหมดของวัดเทพปราสาทศิลาแลง ปรากฏว่าอาจารย์อาสภะเถระพูดว่า "ญานของอุบาสิกาพิมพา เกิดดีกว่าเพื่อนในกลุ่ม" เมื่อท่าน จะกลับกรุงเทพฯ ท่านบอกว่า ท่านจะเอาลูกสาวไปด้วย (หมายถึงอุบาสิกาพิมพา) (ผู้รวบรวม - อุบาสิกาพิมพา ได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ ฉันท์ครูและศิษย์ ที่มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์) และสมัยที่อุบาสิกาพิมพา ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนสตรีวรนารถ วังเทเวศร์ ได้เคยสอบชิงทุนของรัฐบาลได้ แต่มีอุปสรรค ทางครอบครัว ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในขั้นสูงต่อไป และเมื่ออาจารย์อาสภะเถระ เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ท่านก็ได้นำ อุบาสิกาพิมพา เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครด้วย เพราะท่านหวังจะให้อุบาสิกาพิมพาศึกษาเล่าเรียนด้านอภิธรรมปิฎกเพิ่มเติม และ ได้มาพำนักปฏิบัติที่วัดมหาธาตุ เมื่อปีพุทธศักราช 2501 ปฏิบัติอยู่ในห้องกรรมฐาน 5 เดือน 6 วัน และก็ได้ฟังเทศน์ลำดับญาน ต่อจากนั้น อุบาสิกาพิมพา ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอภิธรรมปิฎกต่อ เมื่อปีพุทธศักราช 2502 ที่อภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ในปีที่แรกที่เรียนชั้นจูฬตรี มีนักศึกษาทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสิกา(แม่ชี) ทั่วประเทศเข้าสอบ อุบาสิกาพิมพา สอบได้ที่ 5 เมื่อสอบชั้นจูฬโท อุบาสิกาพิมพา สอบได้ที่ 4 เมื่อสอบชั้นจูฬอาภิธรรมมิกะ เอก อุบาสิกาพิมพา สอบได้ที่ 3 แม้ว่าอุบาสิกาพิมพา ไม่มีความรู้ด้านวินัยปิฎก และสุตตันตปิฎก แต่ก็สนใจในเรื่องการปฏิบัติมาแต่เยาว์วัย เพราะมุ่งหวัง ความพ้นทุกข์ แต่คุณยายชี (มารดาของอาจารย์อรุณ พาสบุตร) ซึ่งพำนักปฏิบัติอยู่ที่วัดอาวุธวิสิตตาราม (วัดบางพลัดนอก) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับโรงไฟฟ้าสามเสน ต้องการให้อุบาสิกาพิมพาศึกษาเล่าเรียนอภิธรรมปิฎก เพราะท่าน อยากให้มีความรู้ด้านปริยัติด้วย อุบาสิกาพิมพา จึงเริ่มศึกษาอภิธรรมปิฎก เมื่อปีพุทธศักราช 2502 ที่อภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เมื่อได้เรียนอภิธรรมปิฎกแล้ว ทำให้เข้าใจในเรื่องของกรรมฐานมากขึ้น และได้นำความรู้ที่ค้นคว้าใน อภิธรรมปิฎกนี้ มาสาธิตการสอนให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องของอภิธรรมปิฎก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงได้ไว้ละเอียดละออ ทั้งสองนัย (หมายความถึง นัยสมถกรรมฐาน และนัยวิปัสสนากรรมฐาน) เพื่อให้มนุษย์ได้พิสูจน์ความจริง และให้ทุกคนได้รู้ว่า นรก สวรรค์นั้นมีจริง ผลของบุญ ของบาปนั้น ให้ผล มีจริง และ พระนิพพานก็มีจริง ดังกล่าวแล้ว อุบาสิกาพิมพาก็ได้ชี้แนะสั่งสอนกรรมฐานให้แก่ผู้สนใจ ด้วยความมุ่งมั่น และจนถึงปัจจุบัน